วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550

การแต่งกายสมัยสุโขทัย

การแต่งกายไทยสมัยสุโขทัย
จากจดหมายเหตุจีน ทำให้ทราบว่า ราชอาณาจักรไทยนั้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไทยและจีนได้มีการติดต่อกันอย่างเป็นทางการ โดยมีการส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกัน เป็นจำนวนหลายครั้งและมีการแลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการเป็นจำนวนมาก และพระเจ้าหงอู่ก็ได้พระราชทานผ้าไหมหลายม้วนมาถวายกษัตริย์ไทย ในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 1

จากบันทึกและหลักฐานอื่น ๆ ทำให้ทราบว่า สมัยสุโขทัย ผ้าที่มีค่าคือ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้ากำมะหยี่ ผ้าจีวร ผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าขาวแก้ว และรองลงมาคือ ผ้าที่ทอด้วยด้ายหรือฝ้าย มีการย้อมเป็นสีต่าง ๆ เรียกว่า ผ้าห้าสี คงได้แก่ สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว และสีเหลือง เรียกว่า ผ้าเบญจรงค์

อย่างไรก็ดี ถึงคนไทยเราจะทอผ้าได้เอง และปรากฏว่าวัฒนธรรมการทอผ้าของสุโขทัยได้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากชาวสุโขทัยอาจจะซื้อขายแลกเปลี่ยนผ้าไหมกับจีนแล้ว เวลาที่ไทยส่งทูตไปเฝ้าพระจักรพรรดิจีน หรือพระจักรพรรดิจีนส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี ก็มักจะสั่งเครื่องราชบรรณาการมาตอบแทน ซึ่งจะมีผ้าร่วมอยู่ด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นผ้าแพร และจะส่งมาเป็นร้อย ๆ ม้วน แพร่นี้มีหลายชนิด แต่ที่เป็นเครื่องราชบรรณาการมักเป็นแพรหมังตึ้ง (แพรยกดอก)

นอกจากนี้มีการนำผ้ามาตกแต่งบ้านเรือน ทำหมอนนั่ง หมอนนอน ฟูก ธงทิว สัปทน ม่าน ในการทำบุญจะมีผ้าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง โดยถวายเป็นจีวรบ้าง ผ้าสบงบ้าง ผ้าเช็ดหน้าบ้าง ถวายเป็นกองก็มี เป็นผืน ๆ ก็มี และที่น่าสนใจคือ จากจารึกหลักที่ 14 กล่าวถึงการถวายผ้าเบงจตีแก่พระสงฆ์ใช้เป็นอาสนะ ผ้าเบงจตีนี้เป็นผ้าลายจากอินเดียชนิดหนึ่ง นอกจากนี้มีการถวายผ้าแพรสำหรับสอดกากะเยีย เพื่อใช้เป็นที่ตั้งรองพระธรรมคัมภีร์ใบลานในเวลาอ่านหนังสือต่างโต๊ะเล็กในปัจจุบัน หรือนำมาทำผ้าสมุดชายปัก สำหรับรองพระคัมภีร์เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น

วัฒนธรรมในด้านการแต่งกาย
การแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญของชนแต่ละชาติ อาณาจักรสุโขทัยมีความรุ่งเรือง ดังนั้นผู้คนก็ย่อมมีการนุ่งห่ม ตกแต่งร่างกายด้วยผ้าแพรพรรณงดงาม มีวัฒนธรรมการแต่งกายเป็นของตนเอง

การแต่งกายของคนสมัยสุโขทัยนั้น สามารถศึกษาได้จากศิลาจารึก และศิลปะโบราณวัตถุ เช่น ตุ๊กตาสังคโลก ประติมากรรม ภาพปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามโบราณสถาน ภาพลายเส้นทั้งที่ปรากฏอยู่บนรอยพระพุทธบาทกับบนแผ่นศิลาเล่าเรื่องชาดกต่างๆ ซึ่งพบที่วัดศรีชุม ทั้งยังอาจศึกษาได้จากเอกสารหรือจดหมายเหตุของประเทศข้างเคียง และของชาวต่างชาติที่เดินทางมาในระยะเวลาดังกล่าว ที่ได้บันทึกกล่าวถึงไว้ในสมัยนั้นได้อีกด้วย และการแต่งกายนี้สามารถศึกษาถึงรายละเอียดได้ ตั้งแต่ทรงผม ผ้านุ่ง เสื้อ ผ้าห่ม เครื่องประดับ และเครื่องหอม

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket


รูปปูนปั้นจากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เป็นภาพพระพุทธประวัติ
ตอนพระนางสิริมหามายาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ แสดงการแต่งกายของสตรีชั้นสูงสมัยสุโขทัย

การแต่งกายของผู้หญิง : ทรงผม
จากการศึกษารูปแบบงานประติมากรรมของสมัยสุโขทัย พบว่า ผู้หญิงสมัยสุโขทัยทำทรงผมหลายแบบ คือไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยอยู่กลางศีรษะ มีพวงดอกไม้หรือพวงมาลัยสวมรอบมวย แบบหนึ่ง หรือไว้ผมแสกกลางรวบผมไว้ท้ายทอย มีเกี้ยวหรือห่วงกลมคล้องตรงที่รวบ แบบหนึ่ง หรือเกล้าเป็นมวยไว้กลางหลังศีรษะเหนือท้ายทอยขึ้นมา ถ้าเป็นสตรีสูงศักดิ์อาจประดับศีรษะด้วยลอมพอก กรอบพักตร์หรือมงกุฎ และการไว้ผมนี้จากหนังสือไตรภูมิพระร่วง และจากหนังสือเรื่องนางนพมาศ จึงเป็นอันว่าผู้หญิงสุโขทัยไว้ผมยาวประบ่าด้วยเช่นกัน ส่วนที่ไว้ผมยาวเกล้ามวยแล้วนิยมตกแต่งด้วยช้องผม และเสียบแซมด้วยช่อดอกไม้ที่เรียกว่า ผกามาศผกาเกสร

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ภาพลายเส้นจากวัดศรีชุม แสดงการแต่งกายและการใช้เครื่องประดับของชนชั้นสูง
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ภาพลายเส้นจากวัดศรีชุม แสดงการแต่งกายของบุรุษสามัญชน สมัยสุโขทัย
เครื่องนุ่งห่ม
เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้หญิงสมัยสุโขทัย พบว่านุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุงยาวกรอมถึงข้อเท้า ผ้านุ่งทอจากทั้งฝ้าย ไหม มีลวดลายดอกสีต่าง ๆ เช่น ดำ แดง ขาว เหลือง และเขียว ผ้าที่ใช้มีหลายชนิด เป็นต้นว่า สุพรรณพสตร์ ลิจิตพัสตร์ จินะกะพัสตร์ ตะเลงพัสตร์ เทวครี ผ้ารัตครี และเจตครี ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าลักษณะของผ้าแต่ละชนิดนั้นเป็นแบบใด แต่น่าจะเป็นผ้าที่ทอเอง และย้อมสีต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ และมีบางชนิดที่นำมาจากต่างประเทศเช่น จากอินเดีย และจีน การนุ่งผ้าซิ่นนั้นเห็นว่าตรงเอวหรือต่ำจากเอวลงมาเล็กน้อย ประดับด้วยผ้ามีรอยจีบคลุมห้อยปล่อยชายลงมาสองชาย ปิดทับหัวเข็มขัดที่สวยงามไว้ สำหรับสตรีที่สูงศักดิ์ เข็มขัดนี้มักนิยมทำเป็นลายประจำยามมีพวงอุบะห้อยเป็นแนว แต่ถ้าเป็นสามัญชนมีทั้งใช้เข็มขัด และใช้ชายผ้า ตรงเอวผูกมัดกันเอง เป็นแบบเหน็บชายพก สตรีสามัญที่แต่งงานแล้วมักไม่สวมเสื้อแต่มีผ้าพันรัดอก สตรีชั้นสูงและสตรีที่ยังไม่แต่งงานจะสวมเสื้อรัดรูป แขนทรงกระบอกและห่มผ้าสไบ เมื่อไปงานบุญหรืองานพิธี หลักฐานการใช้เสื้อนี้มาปรากฏในหนังสือไตรภูมิพระร่วง นอกจากนี้ยังทราบว่ามีการแต่งตัวหลายแบบด้วยเหมือนกันจากหนังสือนางนพมาศ

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

ประติมากรรมสังคโลก รูปสตรีชั้นสูง นุ่งผ้านุ่งยาว กรอมข้อเท้า ด้านหน้าจีบคล้ายผ้าจีบหน้านาง คาดปั้นเหน่ง ดึงชายผ้ายาวลงมาทับหัวปั้นเหน่ง สวมเสื้อแขนยาว สังวาล มงกุฏ กุณฑล พาหุรัด และกำไลข้อพระกร จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร


การแต่งกายของบุรุษ
ทรงผม
ผู้ชายสมัยสุโขทัย ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์หรือเจ้านาย จะไว้ผมยาวมุ่นมวยไว้กลางศีรษะ มีปิ่นปักหรือใช้ผ้าพันหรือโพก หรือประดับศีรษะด้วยมงกุฎ ที่มียอดแหลมหรือกรอบพักตร์ หรือทำผมแสกกลางรวบผมไว้ตรงท้ายทอย มีห่วงหรือเกี้ยวคล้อง

สำหรับผู้ชายสามัญชนทรงผมมักไว้ผมยาว แสกรวบไว้ที่ท้ายทอย มีห่วงกลม ๆ คล้องตรงที่รวบ หรือไม่ก็ไว้ผมสั้น หรือเกล้าผมเป็นมวยเหนือศีรษะ มีผ้าโพก สำหรับพราหมณ์ หรือนักบวชปกติจะเกล้ามวย ถ้าเป็นเชื้อสายตระกูลพราหมณ์จะมีดอกไม้ทอง ส นอบเกล้า จุฑาทอง ประวิตรทอง ธุรำทองเพิ่มขึ้น และเมื่อจะทำพิธีอันเป็นมงคลจะแต่งผมด้วยการใช้ใบชุมแสง แซมช้อง ผมทัดใบพฤกษ์เวฬู หากประกอบพิธีพรุณศาสตร์จะสยายมวยผมเพื่ออ่านโองการ ถ้าเป็นทหารจะสวมหมวกทรงกลม ด้านหลังหมวกมีชายผ้าจากตัวหมวกห้อยยาวลงไปถึงต้นคอ ซึ่งเรียกว่า หมวกทรงประพาส มีหมวกอีกแบบหนึ่งคือ หมวกชีโบ ที่มีรูปคล้ายฝาชี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กุบ”

ส่วนเด็กนั้นสามารถศึกษาจากตุ๊กตาสังคโลก พบว่ามีการไว้ผมจุกมีปิ่นปักหรือผ้าพัน เด็กเล็ก ๆ โดยทั่วไปคงไม่สวมอะไรเลยแต่ในงานประเพณีหรือฤดูหนาวจะนุ่งห่มคล้ายผู้ใหญ่ แต่เด็กโตมีการแต่งกาย เด็กชายก็คงจะนุ่งโจงกระเบนหรือกางเกง
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลกรูปสตรีหลังค่อมถือคนทีน้ำ ไว้ผมยาวรวบตึงไปด้านหลัง
เกล้าเป็นมุ่นมวยต่ำเหนือท้ายทอย นุ่งผ้านุ่งที่มีลวดลาย
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลกรูปช้างพระคชาธาร มีแม่ทัพนั่งบนสัปคับ ด้านหลังมีควาญท้ายช้าง
มีขาช้างทั้งสี่ มีทหารจตุรงคเสนาถือปืนสั้น แม่ทัพโพกผ้าส่วนทหารและควาญตัดผมสั้น
นุ่งผ้าโจง กระเบนสั้น ผูกผ้าคาดเอว สวมเสื้อ

เครื่องนุ่งห่ม
ผู้ชายสุโขทัยสวมเสื้อและมีผ้าคล้องไหล่ เสื้อเป็นเสื้อแขนยาวผ่าอก ผู้ชายชั้นสูงมีผ้าพาดไหล่ ส่วนผ้าโพกศีรษะนั้น ก็มีกล่าวไว้ว่า ผ้าทรงและผ้าโพกก่อนจะใส่มักนิยมอบด้วยของหอม เช่น อบด้วยอายธูป ผ้าโพกนี้คงเป็นผ้าโพกศีรษะนั่นเอง ส่วนเสื้อก็เป็นเสื้อแขนสั้น คอสี่เหลี่ยม เรียกว่าเสื้อยันต์หรือไม่ก็เป็นเสื้อชนิดสวมหัว เข้าใจว่าพวกทหารก็มีเครื่องแต่งกายแบ่งหมู่เหล่าด้วยเหมือนกัน โดยใส่เสื้อและหมวกสีต่าง ๆ
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลกรูปบุรุษแบกครกถือสากอมเมี่ยง
ตัดผมสั้น นุ่งผ้าโจงกระเบน โดยมีชายผ้าด้านหน้าผูกเป็นชายพก

สำหรับผ้านุ่งนั้น ทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมเหมือนของสตรี ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพวกเจ้านายทรงผ้าโจงกระเบนทับสนับเพลา ทั้งบั้นพระองค์หรือเอวมีผ้าจีบประดับทับถ้อยลงมาสองชายแล้วคาดทับด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัดเส้นใหญ่สวยงามแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งนั้น ทรงสวมสนับเพลาขายาวหรือขาสั้นเหนือเข่ามีผ้าคาด ส่วนผ้าพาดไหล่นั้น เวลาใช้จะใช้ชายผ้าทั้งสองชายพาดไปด้านหลังของไหล่แต่ละข้าง ด้านหน้าจึงเห็นผ้าเป็นรูปโค้ง หรือไม่ก็พาดไว้ที่ไหล่ข้างเดียว ผ้าห้อยนี้มีหลายสีดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นสามัญชนและพราหมณ์ จะนุ่งผ้าโจงกระเบนสั้น เหนือเข่า มีผ้าคาดเอว

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
เครื่องประดับสมัยสุโขทัย
เครื่องประดับสมัยสุโขทัย ซึ่งส่วนใหญ่ในระยะแรกนั้น มีลักษณะและรูปแบบคล้ายกับศิลปะลพบุรี แต่ได้มีการปรับปรุงรูปแบบเป็นลักษณะของตนด้วย มีการคิดประดิษฐ์ให้รูปแบบใหม่ทั้งจากที่คิดประดิษฐ์ขึ้นเองและได้รับอิทธิพลจากรูปแบบศิลปกรรมภายนอกที่เข้ามาใหม่ เช่น อิทธิพลจากศิลปะลังกา ซึ่งเข้ามาพร้อมกับการรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เป็นต้น ดังนั้น รูปแบบเครื่องประดับสมัยสุโขทัยจึงมีลักษณะเป็นแบบของตนเอง และเป็นแบบอย่างของเครื่องประดับสมัยอยุธยาในระยะต่อมาด้วย ในสมัยนี้มีการใช้เครื่องประดับทั้งที่ทำด้วยทองคำ ถม เงิน และนิยมประดับด้วยอัญมณี 7 สี มีปัทมราค และ ประพาฬรัตน์ เป็นต้น โดยใช้คำรวม ๆ ว่า “แก้วมณีรัตน์” และ “เครื่องถนิมพิมพาภรณ์” เครื่องประดับที่ปรากฏสำหรับบุคคลชั้นสูง มีศิราภรณ์ ตุ้มหู แหวน สำหรับสตรีชั้นสูง พบว่ามีทองปลายแขนและแหวน นอกจากการแต่งตัวของคนที่มีชีวิตอยู่แล้ว ยังพบว่าในไตรภูมิกถา ก็กล่าวถึงการแต่งตัวให้ผู้ตายด้วย เช่น กล่าวถึงการแต่งตัวศพในอุตรากุรุทวีป ว่าจะอาบน้ำให้ศพและทาด้วยกระแจะแลจวงจันทร์ น้ำมันอันหอม นุ่งห่มผ้า แล้วประดับด้วยๆเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ก่อนนำไปประกอบพิธี
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

รูปแบบของเครื่องประดับ

ศิราภรณ์
มีลักษณะคล้ายเทริด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนกระบังหน้า หรือกรอบพักตร์กันส่วนรัดเกล้าที่ประดับผมส่วนบน ตัวกรอบพักตร์มีความกว้างตรงกลางประดับด้วยลายดอกไม้เป็นแนวกว้างขนาด้วยแถวไข่มุก ตัวกะบังหน้ามีแนวตรงและที่ขอบบนเป็นแนวโค้งหยักสูงเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนรอบหน้าผากหยักโค้ง
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
เศียรทวารบาลสังคโลก สมัยสุโขทัย แสดงรูปแบบของมงกุฏ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ส่วนรัดเกล้า มี 3 แบบคือ เป็นทรงกระบอกยอดกลมแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งเป็นทรงกะเปาะ ซ้อนกันขึ้นไป 5 ชั้น ชั้นบนสุดเรียวสูง เหนือขอบบนของกรอบพักตร์มีแผ่นรูปสามเหลี่ยม 3 แผ่น ประดับตรงกลางเหนือหน้าผาก 1 แผ่น และด้านข้างเหนือแนวหูข้างละ 1 แผ่น ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นรัดเกล้าคล้ายวงแหวน หรือกะเปาะเฟืองสั้น ๆ ซ้อนกันขึ้นไป 5 ชั้น

กรองศอ
มีลักษณะเป็นแถบกว้างโค้งไปตามแนวคอ ตรงกลางแนวกรองศอประดับด้วยลายดอกประจำยามขนาดใหญ่ มีสายต่อกับทับทรวงที่ซ้อนกัน ลายตรงแนวกลางนี้ขนาบด้วยแนวไข่มุก มีหลายลักษณะทั้งแนวกลมมีลายดอกไม้ 3 ดอก ประดับเป็นระยะ ๆ กับที่ตรงกลางเป็นวงเรียบ ขอบสองด้านประดับด้วยแนวหยักหรือเป็นแนวเรียบ แบ่งเป็น 3 แนว แนวกลางประดับด้วยลายไข่มุกขนาดใหญ่ ขนาบด้วยแนวไข่มุกขนาดเล็ก เป็นแนวขอบบนและขอบล่าง และที่เป็นวงแหวน 3 วง เรียงต่อกัน เป็นแผ่นสามเหลี่ยมโค้งคล้ายใบปรือ นอกจากนี้ยังมีห่วงคอเรียบ ๆ ที่มีลายดอกไม้ประดับอยู่ตรงกลางเพียงดอกเดียว

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ปั้นลมสังคโลก สมัยสุโขทัยตกแต่งด้วยภาพเทวดาเหาะ พระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์
แสดงเครื่องทรง เช่น ผ้าทรง มงกุฏ พาหุรัด กรองศอ กำไลข้อพระกรและข้อพระบาท
กำไลข้อมือ
กำไลข้อมือมักเป็นแบบเรียบ ๆ ที่สวมหลาย ๆ วง ส่วนใหญ่มี 3 – 4 วง ทำด้วยทองและเงิน

ตุ้มหู
ตุ้มหูสมัยสุโขทัย ใช้ประดับทั้งบุรุษและสตรี ตุ้มหูเป็นรูปดอกไม้ หรือรูปกลมที่มีก้านเสียบเข้ากับติ่งหูที่เจาะเป็นรูไว้ มีทั้งที่เป็นรูปกลมชิ้นเดียว หรือ 2 – 3 ชิ้นต่อเป็นช่อท้ายลงมา

ปั้นเหน่ง
เนื่องจากบุรุษและสตรีนุ่งผ้ายาวหรือโจงกระเบนยาวแบบที่อินเดียเรียกว่า โธตี ดังนั้นจึงจับชายผ้าเหน็บที่เอวให้กระชับ แล้วคาดเข็มขัดทับเข็มขัดในสมัยนี้จึงเป็นเส้นเรียบ ๆ มีหัวเข็มขัดเป็นรูปกลมและรูปรี เมื่อรัดแล้วประกอบดูคล้ายกับผูกเชือกรอบเอว

การแต่งกายของเด็ก
จากประติมากรรมตุ๊กตาสังคโลก พบว่ารูปเด็กไว้ผมจุก มีปิ่นปัก หรือผ้าพัน เด็กเล็กๆ โดยทั่วไปมักไม่นุ่งผ้า เด็กผู้ชายมีพริกเทศห้องกับสายคาดเอว ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงมีจับปิ้งห้อยปิดอวัยวะเพศ เด็กที่โตผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อคอกลมหรือห่มสไบ ถ้าเด็กผู้ชายนุ่งกางเกงหรือโจงกระเบน แต่หากมีงานประเพณีพิธีกรรม เด็กจะแต่งตัวอย่างงดงาม ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและเครื่องประดับตามฐานะ

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลกรูปคนอุ้มไก่และถือเงินพดด้วง สมัยสุโขทัย
นุ่งผ้านุ่ง ไม่ใส่เสื้อ ไว้ผมยาวรวบเกล้าเป็นมวยเหนือศีรษะ
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลกรูปพ่อแม่ลูกสมัยสุโขทัย นุ่งผ้านุ่งไม่ใส่เสื้อ

เครื่องประทิ่นหรือเครื่องสำอาง
เครื่องประทิ่น
ของหอมที่ใช้ทั้งบุรุษและสตรี คือ กระแจะ จวงจันทร์ น้ำมันหอม ผัดหน้าและลูบกายด้วยแป้งสารภี สตรีมีการเขียนคิ้ว แต่งเล็บ ไว้เล็บ สตรีใช้น้ำมันงาใส่ผม

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550

ทักทายกันก่อนนะคะ

สวัสดีนะคะ ลูกศิษย์ที่น่ารักทุกคน

สำหรับบล๊อกนี้ ครูน้อยได้รวบรวมเนื้อหาเรื่อง การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบันมาไว้ให้นักศึกษาที่เรียนในรายวิชา มารยาทและการสมาคม รหัสวิชา ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มาไว้ให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมนะคะ หากนักศึกษาคนใดเข้ามาเยี่ยมชมแล้ว ขอให้ลงชื่อในส่วนของความคิดเห็นได้เลยนะคะ และหากมีข้อสงสัย หรือข้อเสนอแนะตรงไหน ก็ฝากข้อความไว้ได้เลยนะค

ขอให้เรียนอย่างมีความสุขนะคะ

การแต่งกายในสมัยอยุธยาตอนต้น

การแต่งกายในสมัยอยุธยาตอนต้น

การแต่งกายในสมัยอยุธยาตอนกลาง

การแต่งกายในสมัยอยุธยาตอนกลาง

การแต่งกายในสมัยอยุธยาตอนปลาย

การแต่งกายในสมัยอยุธยาตอนปลาย

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 - 3 )

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 - 3 )

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4 - 7 )

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4 - 7 )

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 8 ถึงปัจจุบัน)

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 8 ถึงปัจจุบัน)